Monday, August 15, 2011

สำรวจตนเอง ความชอบ ความถนัด

คราวที่แล้ว ได้ย้อนเวลาไปนึกถึงตนเอง สมัยที่จะต้องเลือกเรียน ว่าจะต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง นอกจากกระแส ข่าวลือ แรงกดดันพ่อแม่ เพื่อนฝูง ความคาดหวัง

นั่นก็คือ ความชอบ และความถนัด แต่เราจะรู้ได้ เราก็ต้องหมั่นสำรวจความชอบ สำรวจความถนัด และหมั่นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ที่เราสนใจ และอยากศึกษาต่อเพื่อเติมความฝันเรา บางคนอาจจะเห็นว่า ความชอบนี้อาจจะดูเป็นเชิงปัจเจกเกินไป เราก็ควระคำนึงถึงข้อดี ข้อเสียหรือประโยชน์ของอาชีพ วิชาชีพนั้นๆ ประกอบไปด้วย ก็ว่ากันไป

สำหรับคนที่มีญาติพี่น้องพ่อแม่ ทำอาชีพ วิชาชีพนั้นๆ อยู่แล้ว ก็อาจจะได้เห็นภาพง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะรู้ว่าเราชอบหรือเหมาะกับงานนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน แบบประสบการณ์ตรง อย่างไรก็ดี เด็กเดี๋ยวนี้มีโอกาสมากขึ้น ก็สมควรใช้โอกาสนั้นๆ ให้มาก ในการไปฝึกงานหรือดูงานที่เราสนใจ เช่น ค่ายต่างๆ หรือหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สอบถามจากคนที่ทำงานด้านนั้นๆ ให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาชีพ อาชีพนั้นให้มากพอจะประกอบการตัดสินใจ

สำหรับคนอยากเรียนหมอ เดี๋ยวนี้ มีค่ายอยากเป็นหมอเยอะแยะเกือบทุกมหาวิทยาลัย ให้พี่ๆ นักเรียนนิสิตแพทย์ พาน้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การเรียน การทำงานของนักเรียน และแพทย์ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก เพราะเท่าที่เห็นก็ยังเน้น การเรียนในคณะ ซึ่งก็ไม่ใช่ภาพการทำงานที่แท้จริงของแพทย์ แต่จะโทษคนจัดก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ยังไม่ได้เป็นแพทย์ ก็เห็นก็ทำตามที่เคยเห็น และถ่ายทอดได้เท่าที่เห็น ถ้าอาจารย์ผู้ใหญ่ จะเข้ามีบทบาทส่วนร่วม ในการเปิดโลกทัศน์นักเรียนให้เห็น อย่าง ศิริราชที่เร็วๆนี้มีการโปรโมตการเรียนแพทย์ (โดยเฉพาะศิริราช) ว่าได้ประโยชน์อย่างไร และใครอยากเข้ามาเรียนได้บ้าง เดี๋ยวนี้เด็กก็อาจจะต้องไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ไปดูให้เห็นจริงๆ ว่าหมอเขาทำอะไรกัน ซึ่งเท่าที่ได้ฟังมา บ้านเราก็ยังไม่ดีนัก คือไม่ได้ดูหมอเขาทำงานกันจริงๆ เพราะหมอไม่ได้มีเวลา และอาจจะเป็นการไม่เหมาะที่ให้นักเรียน ไปดูคนไข้ในห้องคลอด ผ่าตัด หรือทีมตรวจคนไข้ เพราะอาจจะเป็นประเด็นละเมิดผู้ป่วย จริงๆ ถ้าหมอที่ไปดูงานด้วย เข้าใจความต้องการของนักเรียน คอยแนะนำ และให้ดูสังเกตการทำงาน จริงๆ เด็กก็จะได้ประโยชน์มาก และรู้ความต้องการของตนเองแน่ชัดลงไป ในต่างประเทศ เช่นอังกฤษ คนที่จะเข้าเรียนหมอได้ ต้องไปฝึกงานตามโรงพยาบาล คือไปดู และเขามีระบบชัดเจน ที่ไหนรับได้ ไม่ได้ รับได้กี่คน เป็นเรื่องปกติ และยังต้องมีการเก็บคะแนน กิจกรรมสาธารณะที่ได้ไปร่วมทำ เพื่อให้เห็นว่าเป็นคนมีจิตสาธารณะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วยกรองคนที่อยากจะเรียนหมอจริงๆ ออกมาจากคนที่ไม่ได้อยากจะเรียน บ้านเราน่าจะมีอย่างนี้บ้าง เพราะการสอบเอาคะแนน ไม่ได้วัดว่าใครเหมาะหรืออยากจะเป็นหมอ เป็นแค่วัดโอกาสที่เขาจะเข้าไปเรียน และมีโอกาสสำเร็จในการเรียน อย่างคร่าวๆ เท่านั้น

ที่เล่ามานี้ สมัยของผู้เขียน ไม่มี มีค่ายอยากเป็นหมอ ของจุฬา และมีการฝึกงานที่รู้สึกจะบังคับ ถ้าจะสอบเข้าศิริราชแบบสอบตรง ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เข้าค่าย ไม่ได้ไปฝึกงาน แต่สำรวจความต้องการ ความชอบ ความถนัดของตนเอง และคิดว่าเหมาะสมกับการเรียนแพทย์ เป็นหมอ ก็เลือก โดยที่ไม่ได้มีตัวอย่างให้เห็น ญาติพี่น้องใกล้ชิด หรือ หมอที่เคยไปหา (เด็กๆ เข้าโรงพยาบาลบ่อย แต่เป็นช่วงที่จำความอะไรไม่ได้) ก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างอะไรขนาดนั้น หรือ อินเตอร์เน็ต ข่าวสารก็ไม่ได้มากเหมือนทุกวันนี้ แต่ไม่เคยนึกเสียดาย หรือ เสียใจที่เลือกเรียน และคิดว่าเลือกทางชีวิตที่ดีที่ชอบที่สุด ตั้งแต่เข้าเรียน และเป็นหมอมาจนทุกวันนี้


เด็กทุกวันนี้จึงโชคดี ควรเปิดหูเปิดตา สำรวจอาชีพ ความต้องการของตัวเองให้ดี ก่อนจะตัดสินใจเลือกเรียนอะไรไป อย่าปล่อยตัวปล่อยใจตามกระแส ความต้องการของพ่อแม่ หรือตามเพื่อน ตามความชอบแบบผิวเผิน โดยไม่คิดถึงอนาคต และต้องดูความถนัดความพร้อมของเราให้เหมาะ เพราะอาชีพ วิชาชีพบางอย่าง ก็มีเกณฑ์หรือความต้องการพิเศษ ซึ่งถ้าเราชอบและมุ่งมั่นจริงๆ ก็ไม่สายที่จะทำตรงนั้นให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนบางอย่าง หรือ ความถนัดบางอย่าง เช่นทางศิลปะเป็นต้น

หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่า คนที่เข้ามาเรียนหมอ จนจบหมอ จะไม่ได้ยินอีกว่า เรียนเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร เรียนไปเพราะพ่อแม่บอกให้เรียน ไม่อยากเป็นหมอ ก็เรียนให้จบๆ ทำให้ตนเองและผู้อื่นเสียโอกาส ตนเองเสียโอกาสที่จะได้เรียนได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด ผู้อื่นที่อยากเรียนแต่ผลสอบไม่ดีเท่า(เพราะประเทศนี้วัดกันที่การสอบ) เสียโอกาส โดนกีดกั้น เพราะที่เรียนก็จำกัด สังคมเสียโอกาสที่จะได้คนที่จบเป็นหมอที่พร้อมจะไปทำงานช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยกันเสียเปล่าๆ




































คราวหน้าจะมาลองสรุปว่า อาชีพหมอดีอย่างไร เสียอย่างไร แล้วก็บุคลิกแบบไหนที่เหมาะกับการเป็นหมอ อันไหนไม่น่าจะเหมาะ และ แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

No comments:

Post a Comment