Saturday, August 13, 2011

เลือกเรียนตาม ความถนัด และความชอบ

เรียน เรียน เรียนมามากมาย พอจบ ม ปลายใจหายหดหู่ เพื่อน เพื่อนที่เคยเรียนกันอยู่ต่างก้าวไปสู่จุดหมายของตน


การสอบเข้ามหาวิทยาลัย

เพลงนี้ยังก้องในหัวของผม เหมือนเมื่อราวเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เพลงนี้เป็นเพลงประกอบละครเยาวชนเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับ นักเรียน ม ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งเดียวที่กำหนดชะตาการดำเนินชีวิตในอนาคตของเด็กไทยหลายหมื่น หลายแสนคนในแต่ละปี ความจริงชีวิตของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยการเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว หลายๆคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะใฝ่ฝัน บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนเรียนได้แค่ ประถม หรือ บางคนจบ ม ปลาย ก็ต้องไปทำงาน หรือ บางคน พอ ม สาม ก็ไปเรียนสายอาชีพเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน อย่างทันท่วงที ไม่งมโข่งเรียนจนแก่แบบผมอยู่ตอนนี้

หลากเหตุผล ในการตัดสินใจของแต่ละคน บางคนไม่เรียน ก็ไม่ได้เพราะปัจจัยการเงินน้อย แต่เพราะการเงินมาก หรือไม่อยากที่จะเรียนก็มีให้เห็นทั้งในละครและชีวิตจริงอยู่ดาดไป

สังคมไทยเป็นสังคมที่คนทำตามกระแส แม้กระทั่งการเลือกเรียน (จริงๆ สังคมอื่นก็คงจะเป็นบ้าง แต่เราได้รับรู้กันแค่ในสังคมไทย) สมัยนี้กระแส เอเอฟ เดอะสตาร์ ดังจนฉุดไม่อยู่ เด็กไทยไม่น้อยต่างใฝ่ฝันจะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง เพื่อไปเป็นดวงดาว เพลงอมตะในรอบเกือบสิบปีนี้ก็ดังก้องในหัวไม่แพ้เพลงแรก

จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า จะไปไขว่คว้าเอามาดั่งใจฝัน จะไม่ให้ถึงดวงดาวในวันนั้น จะเป็นคนดัง จะอยู่ในแสงไฟ

นอกจากกระแสด้านบวก แล้วกระแสด้านลบก็มีอิทธิพลต่อการเลือกเรียน ไม่น้อย ดังพาดหัวหน้า นสพ เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา เด็กเก่งพากันสละสิทธิ์เรียนหมอ เพราะกลัวการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกรียวกราวอยู่พักใหญ่

พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงต่างก็ล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเรียนของเด็กอย่างมาก บางคนเรียนเพราะพ่อแม่ขอร้อง ขู่เข็ญ บังคับ หรือ อยากให้เรียนด้วยอะไรก็แล้วแต่ เติมฝันที่ขาดให้พ่อแม่ พ่อแม่หวังดี เพราะเห็นอาชีพมั่นคง มีหน้ามีตา มีเกียรติ (โบราณจัง) หรือ เพื่อนฝูง เรียน ก็เรียนตาม หนูอะไรก็ได้ตามเพื่อน

สมัยผม (และจริงๆ ก็คงทุกสมัยเพียงแค่ค่านิยมมันเปลี่ยนไป) ค่านิยมที่คนเรียนสายวิทย์เก่งๆ ก็จะเรียน หมอ หรือ วิศวะ คนเรียนสายศิลป์เก่งๆ ก็ต้องเข้า อักษร จุฬา หรือ รัฐศาสตร์ พวกมีสตางค์ มีธุรกิจ ก็ต้องเรียน บัญชี บริหาร พวกอยากเล่นการเมือง ก็รัฐศาสตร์ หรือ กฏหมาย พวกมีเส้นสายวงการตำรวจ ทหาร ก็ต้องไปเรียน นายร้อย อย่างนี้เป็นต้น เรื่องศิลปินไส้แห้ง ครูยากจน ก็เป็นเรื่องที่พูดตอกย้ำ กันจนกลายเป็นภาพติดตัวของอาชีพเหล่านั้นไป

แต่หากเรามองอนาคตให้ดี จะเห็นว่าเราจะต้องอยู่กับอะไรที่เราเลือกไปอีกไม่รู้อีกกี่สิบปี บางคนบอกว่า ก็แค่เรียนมหาวิทยาลัย จบแล้วก็ค่อยว่ากัน ว่าจะทำอะไร ก็เรียนเอาดีกรีไปก็เท่านั้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเด็กๆ น้องๆ ในวัยเรียนได้ลองฉุกคิดสักนิด ว่าความมักง่าย เห็นแก่ตัวของเรา หรือคนรอบข้าง หรือฝันที่วาดแบบลอยๆ จะทำให้เราต้องพบกับความสูญเสีย อะไรบ้าง สังคมต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลดีๆ ไปทำอะไรที่ไม่ตรงกับความรู้ ความถนัด ความสามารถของคนสักแค่ไหน และตัวเราจะต้องจมปลักกับสิ่งที่ไม่ใช่ และเราไม่ชอบแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกเรียนในความคิดของผมก็คือ ความชอบและความถนัด ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรองๆ ลงไป ถ้าไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ชอบ และ ถนัด หรือ ชอบที่สุด แต่ถนัดเป็นที่สอง ที่สาม ก็ต้องชั่งน้ำหนัก วัดกันไป ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้เขาก็มีเงินกู้ เงินยืม หรือ เรียนไม่ดี ก็เริ่มคิดและตั้งใจเรียน ไม่มีใครช่วยได้ ความมุ่งมั่นเท่านั้นที่จะช่วยได้ พ่อแม่ สมัยนี้ก็คุยกันได้ ว่าเราอยากเรียน อยากทำอะไร พ่อแม่เขาก็คงจะเข้าใจและส่งเสริม ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องหาตัวช่วย ครูอาจารย์ เพื่อน หรือ ทำให้พ่อแม่เห็นความมุ่งมั่นของเรา เพราะตัวเราเท่านั้นที่จะอยู่กับมัน หลายครอบครัวมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากให้ลูกสืบสานกิจการอันนี้ก็น่าเห็นใจพ่อแม่ เพราะสร้างมากับมือ ก็คงต้องดูว่าเราชอบกิจการงานธุรกิจครัวเรือนแบบนั้นมั้ย มีอะไรที่มันตอบสนองความต้องการของเราและตอบแทนคุณพ่อแม่ไปด้วย พร้อมกันได้ อันนี้ก็เป็นทุกข์ของคนร่ำรวย ทุกข์ของคนก็ต่างกันไป

เด็กวัยรุ่นมักยังไม่เห็นในข้อนี้ แต่จะโทษเด็กก็คงไม่ได้ เพราะเด็กยังอ่อนประสบการณ์และความรู้ ความจริงครูแนะแนวในโรงเรียน น่าจะมีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่เห็นในการแนะแนวคือทำ ทำไป ไม่ได้ประโยชน์จริง จังหรือ ได้เรื่องได้ราว เข้าถึงความต้องการของแต่ละคน เด็กน่าจะได้เห็นตัวอย่างและคำแนะนำ จากคนในอาชีพหลากหลาย เพื่อให้เขาเห็นข้อดี ข้อเสียของแต่ละอาชีพในมุมมองของแต่ละคน ซึ่งย่อมต่างไปตามความชอบและถนัด มีการทดสอบ หรือ ดึงความถนัดออกมา เพื่อเตรียมพร้อมจะเลือกงานการอาขีพร่ำเรียนตามที่ตนถนัดจริงๆ ไม่ใช่ทำแบบทดสอบแล้วออกมาให้ไปเป็นยาม ครูควรร่วมปรึกษาพูดคุย พร้อมผู้ปกครอง ใครมีปัญหาก็แก้กันไป ถึงจะทำให้เด็กได้รู้ความถนัดและความชอบของตน หลายอาชีพ ต้องให้ไปดูงานหรือฝึกงานสักระยะ หรือมีประสบการณ์นั้นๆ ก่อน จึงจะเลือกเรียนได้ เช่น การเป็นแพทย์ (สมัยก่อนไม่มี) ก็ทำให้เขาได้เห็นภาพการทำงาน การเรียนในอนาคตที่ต้องเผชิญว่าเขาจะรับได้ไหม จะชอบไหม

สรุปแล้ว น้องๆ ที่อยากจะเรียนอะไร ก็ควรหาให้เจอว่าเราถนัดอะไร แล้วเราชอบอะไร อยากเรียนอะไร ก็มุ่งมั่นทำให้สำเร็จ อย่าได้เลือกเรียนตามกระแส คุณพ่อคุณแม่ขอร้อง พ้องเพื่อนแห่เรียน เปลี่ยนบรรยากาศ ขาดแรงจูงใจ ได้สินจ้างรางวัล กันเลยนะครับ

No comments:

Post a Comment