Monday, August 15, 2011

สำรวจตนเอง ความชอบ ความถนัด

คราวที่แล้ว ได้ย้อนเวลาไปนึกถึงตนเอง สมัยที่จะต้องเลือกเรียน ว่าจะต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง นอกจากกระแส ข่าวลือ แรงกดดันพ่อแม่ เพื่อนฝูง ความคาดหวัง

นั่นก็คือ ความชอบ และความถนัด แต่เราจะรู้ได้ เราก็ต้องหมั่นสำรวจความชอบ สำรวจความถนัด และหมั่นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ที่เราสนใจ และอยากศึกษาต่อเพื่อเติมความฝันเรา บางคนอาจจะเห็นว่า ความชอบนี้อาจจะดูเป็นเชิงปัจเจกเกินไป เราก็ควระคำนึงถึงข้อดี ข้อเสียหรือประโยชน์ของอาชีพ วิชาชีพนั้นๆ ประกอบไปด้วย ก็ว่ากันไป

สำหรับคนที่มีญาติพี่น้องพ่อแม่ ทำอาชีพ วิชาชีพนั้นๆ อยู่แล้ว ก็อาจจะได้เห็นภาพง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะรู้ว่าเราชอบหรือเหมาะกับงานนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน แบบประสบการณ์ตรง อย่างไรก็ดี เด็กเดี๋ยวนี้มีโอกาสมากขึ้น ก็สมควรใช้โอกาสนั้นๆ ให้มาก ในการไปฝึกงานหรือดูงานที่เราสนใจ เช่น ค่ายต่างๆ หรือหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สอบถามจากคนที่ทำงานด้านนั้นๆ ให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาชีพ อาชีพนั้นให้มากพอจะประกอบการตัดสินใจ

สำหรับคนอยากเรียนหมอ เดี๋ยวนี้ มีค่ายอยากเป็นหมอเยอะแยะเกือบทุกมหาวิทยาลัย ให้พี่ๆ นักเรียนนิสิตแพทย์ พาน้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การเรียน การทำงานของนักเรียน และแพทย์ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก เพราะเท่าที่เห็นก็ยังเน้น การเรียนในคณะ ซึ่งก็ไม่ใช่ภาพการทำงานที่แท้จริงของแพทย์ แต่จะโทษคนจัดก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ยังไม่ได้เป็นแพทย์ ก็เห็นก็ทำตามที่เคยเห็น และถ่ายทอดได้เท่าที่เห็น ถ้าอาจารย์ผู้ใหญ่ จะเข้ามีบทบาทส่วนร่วม ในการเปิดโลกทัศน์นักเรียนให้เห็น อย่าง ศิริราชที่เร็วๆนี้มีการโปรโมตการเรียนแพทย์ (โดยเฉพาะศิริราช) ว่าได้ประโยชน์อย่างไร และใครอยากเข้ามาเรียนได้บ้าง เดี๋ยวนี้เด็กก็อาจจะต้องไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ไปดูให้เห็นจริงๆ ว่าหมอเขาทำอะไรกัน ซึ่งเท่าที่ได้ฟังมา บ้านเราก็ยังไม่ดีนัก คือไม่ได้ดูหมอเขาทำงานกันจริงๆ เพราะหมอไม่ได้มีเวลา และอาจจะเป็นการไม่เหมาะที่ให้นักเรียน ไปดูคนไข้ในห้องคลอด ผ่าตัด หรือทีมตรวจคนไข้ เพราะอาจจะเป็นประเด็นละเมิดผู้ป่วย จริงๆ ถ้าหมอที่ไปดูงานด้วย เข้าใจความต้องการของนักเรียน คอยแนะนำ และให้ดูสังเกตการทำงาน จริงๆ เด็กก็จะได้ประโยชน์มาก และรู้ความต้องการของตนเองแน่ชัดลงไป ในต่างประเทศ เช่นอังกฤษ คนที่จะเข้าเรียนหมอได้ ต้องไปฝึกงานตามโรงพยาบาล คือไปดู และเขามีระบบชัดเจน ที่ไหนรับได้ ไม่ได้ รับได้กี่คน เป็นเรื่องปกติ และยังต้องมีการเก็บคะแนน กิจกรรมสาธารณะที่ได้ไปร่วมทำ เพื่อให้เห็นว่าเป็นคนมีจิตสาธารณะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วยกรองคนที่อยากจะเรียนหมอจริงๆ ออกมาจากคนที่ไม่ได้อยากจะเรียน บ้านเราน่าจะมีอย่างนี้บ้าง เพราะการสอบเอาคะแนน ไม่ได้วัดว่าใครเหมาะหรืออยากจะเป็นหมอ เป็นแค่วัดโอกาสที่เขาจะเข้าไปเรียน และมีโอกาสสำเร็จในการเรียน อย่างคร่าวๆ เท่านั้น

ที่เล่ามานี้ สมัยของผู้เขียน ไม่มี มีค่ายอยากเป็นหมอ ของจุฬา และมีการฝึกงานที่รู้สึกจะบังคับ ถ้าจะสอบเข้าศิริราชแบบสอบตรง ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เข้าค่าย ไม่ได้ไปฝึกงาน แต่สำรวจความต้องการ ความชอบ ความถนัดของตนเอง และคิดว่าเหมาะสมกับการเรียนแพทย์ เป็นหมอ ก็เลือก โดยที่ไม่ได้มีตัวอย่างให้เห็น ญาติพี่น้องใกล้ชิด หรือ หมอที่เคยไปหา (เด็กๆ เข้าโรงพยาบาลบ่อย แต่เป็นช่วงที่จำความอะไรไม่ได้) ก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างอะไรขนาดนั้น หรือ อินเตอร์เน็ต ข่าวสารก็ไม่ได้มากเหมือนทุกวันนี้ แต่ไม่เคยนึกเสียดาย หรือ เสียใจที่เลือกเรียน และคิดว่าเลือกทางชีวิตที่ดีที่ชอบที่สุด ตั้งแต่เข้าเรียน และเป็นหมอมาจนทุกวันนี้


เด็กทุกวันนี้จึงโชคดี ควรเปิดหูเปิดตา สำรวจอาชีพ ความต้องการของตัวเองให้ดี ก่อนจะตัดสินใจเลือกเรียนอะไรไป อย่าปล่อยตัวปล่อยใจตามกระแส ความต้องการของพ่อแม่ หรือตามเพื่อน ตามความชอบแบบผิวเผิน โดยไม่คิดถึงอนาคต และต้องดูความถนัดความพร้อมของเราให้เหมาะ เพราะอาชีพ วิชาชีพบางอย่าง ก็มีเกณฑ์หรือความต้องการพิเศษ ซึ่งถ้าเราชอบและมุ่งมั่นจริงๆ ก็ไม่สายที่จะทำตรงนั้นให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนบางอย่าง หรือ ความถนัดบางอย่าง เช่นทางศิลปะเป็นต้น

หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่า คนที่เข้ามาเรียนหมอ จนจบหมอ จะไม่ได้ยินอีกว่า เรียนเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร เรียนไปเพราะพ่อแม่บอกให้เรียน ไม่อยากเป็นหมอ ก็เรียนให้จบๆ ทำให้ตนเองและผู้อื่นเสียโอกาส ตนเองเสียโอกาสที่จะได้เรียนได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด ผู้อื่นที่อยากเรียนแต่ผลสอบไม่ดีเท่า(เพราะประเทศนี้วัดกันที่การสอบ) เสียโอกาส โดนกีดกั้น เพราะที่เรียนก็จำกัด สังคมเสียโอกาสที่จะได้คนที่จบเป็นหมอที่พร้อมจะไปทำงานช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยกันเสียเปล่าๆ




































คราวหน้าจะมาลองสรุปว่า อาชีพหมอดีอย่างไร เสียอย่างไร แล้วก็บุคลิกแบบไหนที่เหมาะกับการเป็นหมอ อันไหนไม่น่าจะเหมาะ และ แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Saturday, August 13, 2011

เลือกเรียนตาม ความถนัด และความชอบ

เรียน เรียน เรียนมามากมาย พอจบ ม ปลายใจหายหดหู่ เพื่อน เพื่อนที่เคยเรียนกันอยู่ต่างก้าวไปสู่จุดหมายของตน


การสอบเข้ามหาวิทยาลัย

เพลงนี้ยังก้องในหัวของผม เหมือนเมื่อราวเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เพลงนี้เป็นเพลงประกอบละครเยาวชนเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับ นักเรียน ม ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งเดียวที่กำหนดชะตาการดำเนินชีวิตในอนาคตของเด็กไทยหลายหมื่น หลายแสนคนในแต่ละปี ความจริงชีวิตของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยการเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว หลายๆคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะใฝ่ฝัน บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนเรียนได้แค่ ประถม หรือ บางคนจบ ม ปลาย ก็ต้องไปทำงาน หรือ บางคน พอ ม สาม ก็ไปเรียนสายอาชีพเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน อย่างทันท่วงที ไม่งมโข่งเรียนจนแก่แบบผมอยู่ตอนนี้

หลากเหตุผล ในการตัดสินใจของแต่ละคน บางคนไม่เรียน ก็ไม่ได้เพราะปัจจัยการเงินน้อย แต่เพราะการเงินมาก หรือไม่อยากที่จะเรียนก็มีให้เห็นทั้งในละครและชีวิตจริงอยู่ดาดไป

สังคมไทยเป็นสังคมที่คนทำตามกระแส แม้กระทั่งการเลือกเรียน (จริงๆ สังคมอื่นก็คงจะเป็นบ้าง แต่เราได้รับรู้กันแค่ในสังคมไทย) สมัยนี้กระแส เอเอฟ เดอะสตาร์ ดังจนฉุดไม่อยู่ เด็กไทยไม่น้อยต่างใฝ่ฝันจะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง เพื่อไปเป็นดวงดาว เพลงอมตะในรอบเกือบสิบปีนี้ก็ดังก้องในหัวไม่แพ้เพลงแรก

จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า จะไปไขว่คว้าเอามาดั่งใจฝัน จะไม่ให้ถึงดวงดาวในวันนั้น จะเป็นคนดัง จะอยู่ในแสงไฟ

นอกจากกระแสด้านบวก แล้วกระแสด้านลบก็มีอิทธิพลต่อการเลือกเรียน ไม่น้อย ดังพาดหัวหน้า นสพ เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา เด็กเก่งพากันสละสิทธิ์เรียนหมอ เพราะกลัวการฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกรียวกราวอยู่พักใหญ่

พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงต่างก็ล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเรียนของเด็กอย่างมาก บางคนเรียนเพราะพ่อแม่ขอร้อง ขู่เข็ญ บังคับ หรือ อยากให้เรียนด้วยอะไรก็แล้วแต่ เติมฝันที่ขาดให้พ่อแม่ พ่อแม่หวังดี เพราะเห็นอาชีพมั่นคง มีหน้ามีตา มีเกียรติ (โบราณจัง) หรือ เพื่อนฝูง เรียน ก็เรียนตาม หนูอะไรก็ได้ตามเพื่อน

สมัยผม (และจริงๆ ก็คงทุกสมัยเพียงแค่ค่านิยมมันเปลี่ยนไป) ค่านิยมที่คนเรียนสายวิทย์เก่งๆ ก็จะเรียน หมอ หรือ วิศวะ คนเรียนสายศิลป์เก่งๆ ก็ต้องเข้า อักษร จุฬา หรือ รัฐศาสตร์ พวกมีสตางค์ มีธุรกิจ ก็ต้องเรียน บัญชี บริหาร พวกอยากเล่นการเมือง ก็รัฐศาสตร์ หรือ กฏหมาย พวกมีเส้นสายวงการตำรวจ ทหาร ก็ต้องไปเรียน นายร้อย อย่างนี้เป็นต้น เรื่องศิลปินไส้แห้ง ครูยากจน ก็เป็นเรื่องที่พูดตอกย้ำ กันจนกลายเป็นภาพติดตัวของอาชีพเหล่านั้นไป

แต่หากเรามองอนาคตให้ดี จะเห็นว่าเราจะต้องอยู่กับอะไรที่เราเลือกไปอีกไม่รู้อีกกี่สิบปี บางคนบอกว่า ก็แค่เรียนมหาวิทยาลัย จบแล้วก็ค่อยว่ากัน ว่าจะทำอะไร ก็เรียนเอาดีกรีไปก็เท่านั้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเด็กๆ น้องๆ ในวัยเรียนได้ลองฉุกคิดสักนิด ว่าความมักง่าย เห็นแก่ตัวของเรา หรือคนรอบข้าง หรือฝันที่วาดแบบลอยๆ จะทำให้เราต้องพบกับความสูญเสีย อะไรบ้าง สังคมต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลดีๆ ไปทำอะไรที่ไม่ตรงกับความรู้ ความถนัด ความสามารถของคนสักแค่ไหน และตัวเราจะต้องจมปลักกับสิ่งที่ไม่ใช่ และเราไม่ชอบแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกเรียนในความคิดของผมก็คือ ความชอบและความถนัด ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรองๆ ลงไป ถ้าไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ชอบ และ ถนัด หรือ ชอบที่สุด แต่ถนัดเป็นที่สอง ที่สาม ก็ต้องชั่งน้ำหนัก วัดกันไป ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้เขาก็มีเงินกู้ เงินยืม หรือ เรียนไม่ดี ก็เริ่มคิดและตั้งใจเรียน ไม่มีใครช่วยได้ ความมุ่งมั่นเท่านั้นที่จะช่วยได้ พ่อแม่ สมัยนี้ก็คุยกันได้ ว่าเราอยากเรียน อยากทำอะไร พ่อแม่เขาก็คงจะเข้าใจและส่งเสริม ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องหาตัวช่วย ครูอาจารย์ เพื่อน หรือ ทำให้พ่อแม่เห็นความมุ่งมั่นของเรา เพราะตัวเราเท่านั้นที่จะอยู่กับมัน หลายครอบครัวมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากให้ลูกสืบสานกิจการอันนี้ก็น่าเห็นใจพ่อแม่ เพราะสร้างมากับมือ ก็คงต้องดูว่าเราชอบกิจการงานธุรกิจครัวเรือนแบบนั้นมั้ย มีอะไรที่มันตอบสนองความต้องการของเราและตอบแทนคุณพ่อแม่ไปด้วย พร้อมกันได้ อันนี้ก็เป็นทุกข์ของคนร่ำรวย ทุกข์ของคนก็ต่างกันไป

เด็กวัยรุ่นมักยังไม่เห็นในข้อนี้ แต่จะโทษเด็กก็คงไม่ได้ เพราะเด็กยังอ่อนประสบการณ์และความรู้ ความจริงครูแนะแนวในโรงเรียน น่าจะมีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่เห็นในการแนะแนวคือทำ ทำไป ไม่ได้ประโยชน์จริง จังหรือ ได้เรื่องได้ราว เข้าถึงความต้องการของแต่ละคน เด็กน่าจะได้เห็นตัวอย่างและคำแนะนำ จากคนในอาชีพหลากหลาย เพื่อให้เขาเห็นข้อดี ข้อเสียของแต่ละอาชีพในมุมมองของแต่ละคน ซึ่งย่อมต่างไปตามความชอบและถนัด มีการทดสอบ หรือ ดึงความถนัดออกมา เพื่อเตรียมพร้อมจะเลือกงานการอาขีพร่ำเรียนตามที่ตนถนัดจริงๆ ไม่ใช่ทำแบบทดสอบแล้วออกมาให้ไปเป็นยาม ครูควรร่วมปรึกษาพูดคุย พร้อมผู้ปกครอง ใครมีปัญหาก็แก้กันไป ถึงจะทำให้เด็กได้รู้ความถนัดและความชอบของตน หลายอาชีพ ต้องให้ไปดูงานหรือฝึกงานสักระยะ หรือมีประสบการณ์นั้นๆ ก่อน จึงจะเลือกเรียนได้ เช่น การเป็นแพทย์ (สมัยก่อนไม่มี) ก็ทำให้เขาได้เห็นภาพการทำงาน การเรียนในอนาคตที่ต้องเผชิญว่าเขาจะรับได้ไหม จะชอบไหม

สรุปแล้ว น้องๆ ที่อยากจะเรียนอะไร ก็ควรหาให้เจอว่าเราถนัดอะไร แล้วเราชอบอะไร อยากเรียนอะไร ก็มุ่งมั่นทำให้สำเร็จ อย่าได้เลือกเรียนตามกระแส คุณพ่อคุณแม่ขอร้อง พ้องเพื่อนแห่เรียน เปลี่ยนบรรยากาศ ขาดแรงจูงใจ ได้สินจ้างรางวัล กันเลยนะครับ

Thursday, August 4, 2011

ปฐมบทของแพทย์คนหนึ่ง

ผมเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2538 หรือ สิบหกปีมาแล้ว จบแพทย์ปี2544 ทุกวันนี้ก็ยังเรียนหนังสือต่อนู่นนี่ไม่จบสักที และคาดว่าจะเรียนไปอีกสักสองสามปี ถึง ห้าปี เอหรือจะเรียนจนเกษียณเลยดีเนี่ย ก็อยากจะบันทึกเรื่องราวการฝ่าฟันร่ำเรียนจนจบออกมาเป็นหมอคนหนึ่งในเมืองไทย เพื่อเตือนความทรงจำตนเอง และเก็บบันทึกเป็นความทรงจำให้ตัวเองไว้ เผื่ออีกหน่อยแก่ตัวไปมีคนมาถาม จะได้มีหน้าประวัติศาสตร์ไว้เล่าให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้รับรู้กันบ้าง และก็จะใช้พื้นที่นี้เผยแพร่ความยากลำบากในการผลิตแพทย์คนหนึ่งมารับใช้สังคม แนวคิดเกี่ยวกับแพทยศาสตร์ศึกษาที่ผมได้อ่านได้เจอมา และที่ประสบกับตัวเอง ก้าวบทต่อไป ของการผลิตแพทย์ที่ผมคิด และคนอื่นเขาคิดว่าเหมาะสมกับประเทศไทยของเรานี้ อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับนักเรียนที่มีความคิดอยากจะเป็นหมอ หรือประชาชนทั่วไป ที่จะได้เห็นภาพการผลิตหมอจากคนใน เผื่อจะได้ลดอคติ และเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมอกับคนไข้ได้บ้าง ก็เลยเขียนบล็อกนี้ขึ้นมา รู้สึกจะหวังประโยชน์มากไปหน่อย แต่จะได้สักเท่าไรก็ไม่รู้เหมือนกัน



สำหรับคนที่สนใจเรื่องการฝึกแพทย์เฉพาะทาง การใช้ทุนอ่านได้ที่ http://residencymedicinethailand.blogspot.com/
และเรื่องราวการเรียนปริญญาเอกวิทยาศาสตร์การแพทย์ อ่านได้ที่